Design Thinking มาจากไหน แล้วทำไมใครๆ ก็พูดถึงจัง

Design Thinking มาจากไหน แล้วทำไมใครๆ ก็พูดถึงจัง
.
.
หลายๆ คนคงได้ยินคำว่า Design Thinking เยอะแยะไปหมด ไปที่ไหนก็มีแต่อบรมเรื่องนี้ บรรยายเรื่องนี้จนอาจจะเอียนกันไปบ้าง

วันนี้เราจะมาแชร์ให้ฟังว่าที่มาที่ไปของศาสตร์นี้มาจากไหนกันแน่ แล้วทำไมมันถึงเป็นที่พูดถึงกันในวงการธุรกิจจังเลย
.

รู้หรือไม่ว่า Design Thinking เป็นศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นมาพร้อมๆ กับ Industrial Design
ได้ถูกกล่าวถึงครั้งแรกเมื่อประมาณปี 1959 จากหนังสือ Creative Engineering
โดย John E. Arnold และถูกนำมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยระบบอุตสาหกรรม (Industrial Design)

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ครั้งที่เราเริ่มมีระบบอุปกรณ์ไฟฟ้า เหล็ก และ พลาสติกเข้ามาในระบบอุตสาหกรรม
ทำให้เราสามารถผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับชีวิตเราได้ในจำนวนมากขึ้นอย่างมหาศาลในเวลาอันน้อยนิด

ด้วยสาเหตุนี้เองทำให้ต้นทุนของของต่างๆ มีราคาต่ำมาก คนมากมายสามารถมีโอกาสเข้าถึงสินค้าที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้นได้อย่างง่ายดาย
(หากเปรียบเทียบในตอนนี้ก็คงเหมือน การที่ Internet ถูกลงมากและทำให้คนแทบทุกระดับเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากมันได้)

การที่จะได้สินค้าต่อชิ้นในราคาถูกได้นั้น มีข้อแม้อยู่ว่าต้องทำการผลิตของที่หน้าตาเหมือนกันจำนวนมากๆ
เพราะตัวแม่พิมพ์นั้นราคาสูงเป็นหลักล้าน

ดังนั้นเจ้าของสินค้านั้นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องมั่นใจก่อนที่จะผลิตอะไรก็ตามออกมาได้ว่า ถ้าผลิตออกมาจำนวนมากแล้วนั้น จะมีคนจำนวนมากเช่นกันที่ต้องการซื้อและใช้สินค้าเหล่านั้น

และ Design Thinking นี้เอง คือกระบวนการและเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถเข้าไปเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของคนจำนวนมากได้ เพื่อที่จะผลิตของให้ออกมาตรงความต้องการกับคนจำนวนมาก พูดง่ายๆก็คือขายได้ ทำกำไรได้นั่นเอง

IDEO คือบริษัทแรกๆ ที่นำ Design Thinking มาใช้ในการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้แก่บริษัทต่างๆ ที่มาเป็นลูกค้า โดยผลงานที่จะยกตัวอย่างเป็นผลิตภัณฑ์ที่ง่ายๆไม่ซับซ้อน คือ การออกแบบแปรงสีฟันสำหรับเด็กให้แก่ Oral-B เมื่อปี 1996 ถ้าเราคิดเร็วๆ ว่าแปรงสีฟันเด็กควรมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราก็คงได้แปรงสีฟันผู้ใหญ่ย่อ Size มาขายในท้องตลาด

แต่ด้วยกระบวนการการออกแบบ Design Thinking ทำให้เราต้องไปทำความเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานอย่างถ่องแท้ก่อน จึงจะออกแบบสิ่งที่ตอบโจทย์นั้นได้จริงๆ ทำให้เมื่อทีมของ IDEO ไปสำรวจกับเด็กๆ แล้ว พบว่ากล้ามเนื้อมือของเด็กยังไม่พัฒนาพอที่จะจับแปรงได้เหมือนที่ผู้ใหญ่จับ การย่อขนาดแปรงลงมาไม่ใช่สิ่งที่ควรทำแน่นอน


“การเก็บข้อมูลในกระบวนการ Design Thinking นั้น คือเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ไม่ใช่เชิงปริมาณ เพื่อการเข้าใจเหตุผลของพฤติกรรมและความต้องการได้อย่างแท้จริง และไม่ได้เกิดจากการไปพูดคุยกับผู้ใช้งานเพียงอย่างเดียว หากแต่เกิดจากการเข้าไปทำความเข้าใจด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งพูดคุย สอบถาม เฝ้าสังเกต ตั้งคำถามในพฤติกรรมหรือประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ”

สุดท้าย IDEO ได้ออกแบบแปรงสีฟันสำหรับเด็กที่มีด้ามจับขนาดใหญ่เพื่อให้เด็กใช้กำทั้งมือแทนที่จะใช้นิ้วโป้งเป็นตัวบังคับเหมือนของผู้ใหญ่ และมีสีสันลวดลายที่ดึงดูดเด็กๆ ให้อยากใช้อยากแปรง ทำให้ Oral-B ขายแปรงสีฟันสำหรับเด็กนี้เป็นอันดับ 1 ของตลาด กินมายาวๆ เพราะการเข้าใจผู้ใช้งานที่มากกว่า


“Design Thinking เป็นที่พูดถึงกันว่าเป็น
Systematic Method for Designer และเป็น Creative Engineering

“Industrial Design เป็นศาสตร์ของการออกแบบที่อยู่ระหว่างศิลปะและวิศวกรรม ต้องมีศิลปะในเรื่องมุมมองของความสวยงาม รื่นรมย์ น่าใช้ ของผู้ใช้ ในขณะเดียวกันผู้ออกแบบก็ต้องเข้าใจการผลิตในระดับอุตสาหกรรมให้ได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นวิชานี้เปรียบเสมือนวิชาหลักที่นักศึกษาทุกคนจะต้องได้เรียนในภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม”

และสาเหตุที่ทำให้ Design Thinking เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายก็เพราะหนึ่งใน Founder ของ IDEO คือ David Kelley ได้นำ Design Thinking ไปเปิด D.school ใน Stanford University ด้วยความตั้งใจที่จะให้นักศึกษามีมุมมองที่ Creative และมีความเข้าใจผู้ใช้งานที่จะมาใช้สิ่งที่ตนกำลังจะออกแบบ

เมื่อนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์เหล่านี้จบปริญญาโทออกมา และได้เข้าเรียนวิชาเลือกใน D.school แน่นอนว่ามากกว่าครึ่งก็ไปเติบโตในสายงานบริหาร เพราะเป็นศาสตร์วิชาแห่งการจัดการ คิดเป็นระบบ ทำให้มีความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรได้ดี เมื่อคนเหล่านั้นไปทำงานบริหาร ก็นำเอาวิธีคิดวิธีการ Design Thinking ไปใช้ในการทำงาน และทำให้เกิดการทำงานหรือมุมมองใหม่ๆ ให้กับภาคธุรกิจ จนเกิดเป็นความเคลื่อนไหวว่าศาสตร์ๆ นี้คืออะไร ทำอย่างไร มีวิธีการคิดให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ที่จะตรงกับความต้องการของคน เข้าใจคนได้อย่างไร

ในขณะที่ Design Thinking ขยายตัวเข้าสู่ภาคธุรกิจมากขึ้นๆ จากการผลิดอกออกผลจากผลผลิตจาก D.school ทางสาย Industrial / Product Design ก็ถูกพัฒนาไปเป็น Service Design และอื่นๆ  เห็นได้จากการที่ตอนนี้บริษัท  IDEO ไม่ได้ออกแบบเพียงแค่ Consumer Product แล้ว แต่พัฒนาไปสู่  Consumer Experience ตั้งแต่ปี 2001 และปัจจุบันได้แตก Service ของบริษัทออกไปอีกมากมายเช่น Branding, Business Design, Communication Design, ไปจนถึง Organizational Design และอื่นๆ อีกมากมาย เพราะทุกอย่างมีจุดเริ่มต้นมาจากเรื่องเดียวกัน คือมีผู้ใช้ และ Design Thinking คือการเข้าใจผู้ใช้ สุดท้ายแล้วผลมันจะออกมาเป็นอะไรก็ได้
.
.

ไว้ครั้งหน้า พวกเราจะมาแชร์ให้ฟัง ว่า Service Design และ Design Thinking มันเรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่อง แล้วมันเหมือนมันต่างกันอย่างไรนะคะ

Tanatta Koshihadej

Service Design Director, the Contextual และ อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Learn more about our services.

SERVICE MENU