SONIC LOGO โลโก้ที่มองไม่เห็น แต่จำได้จนขึ้นใจ

เมื่อพูดถึง logo ทุกคนก็มีภาพตราลัญลักษณ์ที่เป็นภาพจำของ brand ต่างๆ ที่เป็นที่รู้จักกันได้เป็นอย่างดี แต่หลายคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหูกับคำว่า Sonic Logo หรือ โลโก้เสียง แม้เราจะมองไม่เห็นมัน แต่เรารับรู้และจำได้จากการได้ยินจนจำได้ขึ้นใจ (บางครั้งเราจำมันได้มากกว่าโลโก้ที่มองเห็นเสียอีกด้วยสิ!)

Brand Identity ที่เราอาจไม่เคยสังเกต

หากถามว่า…..
ตอนเปิด Macbook ขึ้นแล้วกด start
ตอน Line เด้งเตือนเมื่อมีข้อความเข้า
ตอนเปิด Netflix ขึ้นและกำลังจะเข้าหน้า menu หลัก
ตอนเดินเข้า 7Eleven
หรือขึ้น BTS
เราได้ยินเสียงอะไร?
หลายๆ น่าจะตอบได้ หรืออย่างน้อยได้ยินเสียง intro ขึ้นมาปุ๊ป ก็จดจำได้ทันทีสิ่งสิ่งนั้นหรือบริการนั้นๆ คืออะไร สิ่งเหล่านั้นคือหนึ่งในองค์ประกอบของ brand identity ที่มาในรูปแบบของ “เสียง” เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยทำให้คนจดจำ brand ได้

มากกว่าแค่การจดจำ แต่คือการเรียกประสบการณ์ ความรู้สึกขึ้นมาได้

ในการสร้าง brand identity ในเชิง visual เราก็จะอยากให้คนจดจำภาพที่แสดงความเป็น brand เราได้ชัดเจนที่สุด เช่น เห็นเส้นโค้งขาวๆ บนพื้นสีแดงก็รู้เลยว่าคือ โค้ก หรือเห็น สามเหลี่ยมเหมือนเครื่องหมาย play กับสีแดงคือ Youtube นี่คือภาพจำภาพแรกที่แต่ละ brand ตั้งเป้าไว้ และนับเป็นความสำเร็จของนักออกแบบ visual

หากมองในฐานะ user หรือผู้ใช้ CI หรือ logo นี้ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า เราได้ของแท้ ไม่ใช่ของปลอม! หรือหาก brand ที่สร้างมาได้ดีจนทำให้ผู้ใช้รู้สึก “ภูมิใจ” ที่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการ ก็จะทำหน้าที่มากไปกว่าแค่การทำให้ลูกค้ารู้สึกว่ามั่นใจในสินค้าและบริการได้ (ใช้บอกรสนิยมการตัดสินใจเลือกซื้อของของตนเองได้ ใช้โลโก้นั้นบอกผู้อื่นถึงรสนิยมของตนเองต่อได้ด้วย)

แตกต่างจากเสียง ที่เพียงเราได้ยิน มันกลับดึงเอาความรู้สึก ภาพจำภาพประสบการณ์ขึ้นมาด้วยได้อย่างไม่น่าเชื่อ ลองคิดภาพว่าถ้าเราเปิด Netflix ขึ้นแล้วไม่มีเสียง Ta-dum ดูสิ ความตื่นเต้นหรือความรู้สึกว่าเรากำลังจะได้เข้าสู่ช่วงเวลาที่รอคอยที่จะได้ดูซีรี่ย์หรือภาพยนตร์ย่อมแตกต่างจากการที่เราได้ยินเสียง Ta-dum ตอนเปิดเข้า Netflix อย่างแน่นอน ดังนั้น sonic logo ไม่ได้ทำหน้าที่ทับซ้อนกับ visual logo แต่ทำหน้าที่ที่จะมาช่วยเติม brand identity ให้ครบทุกมิติที่มากขึ้น

sonic logo กับ จิงเกิ้ล … เหมือนกันหรือเปล่า?


เราอาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่า sonic logo เท่าไรนัก แต่ถ้าพูดว่า จิงเกิ้ล เราอาจจะร้องอ๋อ…..อ แต่ในความหมายและการใช้งานแล้ว มันมีข้อแตกต่างกันคือ จิงเกิ้ล เป็นเหมือนเพลงประกอบ อาจจะเอาไปใช้ประกอบโฆษณา หรือเป็นเพลงเปิดตอนเลือกซื้อสินค้า แต่ sonic logo จะสั้นกว่า หากเทียบให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นก็เหมือน visual logo กับ ภาพใช้โฆษณา ซึ่งอย่างไรก็ตาม มันก็คือ brand identity องค์ประกอบที่ช่วยให้คนจดจำ brand ได้เช่นเดียวกัน

sonic logo ช่วยให้เกิดความรู้สึกอย่างไรกับ brand และ user

จดจำได้และทำให้ brand value ชัดเจนยิ่งขึ้น

การจดจำได้คือคุณสมบัติพื้นฐานที่ logo ควรทำได้ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ภาพหรือเสียง ซึ่งใน sonic logo การจดจำได้นั้นนำมาสู่ความรู้สึกอื่นๆที่ผูกเข้ากับ brand value (คุณค่าที่ brand อยากให้ลูกค้ารู้สึกกับ brand) ได้อีกด้วย ซึ่ง sonic logo เป็นตัวกระตุ้นให้ลูกค้ารู้สึก brand value ได้อย่างคาดไม่ถึง เพราะเมื่อเราได้ยินเสียงมันจะสามารถกระตุกความทรงจำได้ชัดเจนกว่าภาพ (เช่นเดียวกับ กลิ่น บางทีเราได้กลิ่นเพียงกลิ่นเดียวแต่ความทรงจำที่เรามีต่อกลิ่นนั้นกลับผุดขึ้นมาเยอะและชัดเจนเสียเหลือเกิน)

เติมเต็ม brand identity สำหรับสินค้าหรือบริการที่สร้างเสียงด้วยตัวเองไม่ได้

ในสินค้าทั่วไป เสียงอาจจะเกิดขึ้นได้จากตัวผลิตภัณฑ์หรือการใข้งานเอง เช่น เสียงเปิดกระป๋องน้ำอัดลม เสียงสตาร์ทรถ เสียงคลิ๊กปิดฝา เสียงขณะเปิด ใช้งาน หรือปิดผลิตภัณฑ์ ซึ่งแม้จะไม่ใช่ sonic logo ที่ตั้งใจออกแบบมา แต่อย่างน้อย เสียงก็มีบทบาทในประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราจดจำช่วงเวลาที่มีความสัมพันธ์กับสินค้านั้นๆ ได้

แต่สินค้าและบริการบางประเภทที่ไม่สามารถมีเสียงที่ทำให้คนจดจำตนเองได้นั้น sonic logo หรือแม้แค่เพียงการออกแบบให้มีเสียงเข้ามาอยู่ด้วย ก็ช่วยให้คนจดจำและรู้สึกกับ brand ได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น สินค้าหรือบริการที่เป็น screen หรือเป็นหน้าจอสัมผัส ที่มันจะไม่มีเสียงเหมือนการใช้งานผลิตภัณฑ์ที่ analog การออกแบบเสียงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของเขาสร้างความรู้สึกที่มากขึ้นกับผู้ใช้งานได้

FUN FACT : จากการสำรวจพบว่ามี user จำนวนไม่น้อย เลือกซื้อโทรศัพท์ Samsung ด้วยเหตุผลคือ “เสียงกดปุ่มไพเราะ”

เสียงตอน start เครื่อง MacBook นอกจากจะช่วยให้รู้สึกว่าเวลาในการรอเครื่อง start สั้นลง ผู้ใช้รู้ว่าเครื่องกำลังทำงานแล้ว ยังทำให้คนจดจำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์นี้ได้ว่าเป็นเสียงของ Apple MacBook อีกด้วย

ช่วยสื่อสารกับ user มากขึ้นและถี่ขึ้น

“ช๊อปปี” เสียงร้องเตือนจาก Shopee เมื่อมีการส่งสินค้าหรือมีโปรโมชั่นดีๆ “ไลน์” เสียงร้องเตือนเมื่อมีข้อความเข้ามาใน Line จริงๆ แล้วมันจะเป็นเสียงอะไรก็ได้ แต่หากเราตั้งใจออกแบบให้ดีๆ เสียงนั้นจะทำหน้าที่ได้มากกว่าแค่การร้องเรียก แต่เป็นเสียงที่ทำให้คนรู้สึกมีปฏิสัมพันธ์กับ brand มากขึ้น

touchpoint ที่เป็นจุดเปลี่ยนประสบการณ์

“Ta-dum” เสียงที่เราได้ยินตอนเปิด Netflix ขึ้น เป็นเสียงที่ Netflix ตั้งใจออกแบบมาเพื่อบอกผู้ชมของเขาให้รู้ว่าตั้งแต่นี้ไป คุณกำลังจะเข้าสู่ช่วงความบันเทิงแล้วนะ และเป็นเสียงที่มาพร้อมกับความรู้สึกดีๆ เพราะคนที่กำลังจะเปิด Netflix ชม จะต้องกำลังมองหาช่วงเวลาบันเทิง ดังนั้นเสียง Ta-dum ไม่ใช่แค่ช่วยเป็นสัญญาณเปลี่ยนบรรยากาศแต่ทำให้คนจดจำ Netflix ได้มากกว่าแค่ visual แต่สามารถจดจำ “ความรู้สึกที่จะได้ชมความบันเทิงเรื่องโปรด” นั้นได้ด้วย

สื่อสารกับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมได้เข้าถึงมากขึ้น

“โตชิบ้า นำสิ่งที่ดีสู่ชีวิต” คนที่เคยได้ชมโฆษณาของ Toshiba น่าจะอ่านแล้วฮัมทำนองขึ้นมาได้เลย Toshiba คือ brand จากประเทศญี่ปุ่น ที่เมื่อเข้ามาทำการตลาดในประเทศไทย ก็ส่ง melody ของ sonic logo นี้มาเพื่อให้ใช้ภาษาไทยใส่เข้าไป ทำให้คนเข้าใจสิ่งที่ Toshiba ต้องการจะสื่อสารได้ง่ายขึ้น


เวลาเราได้ยินโฆษณาของ Coke รู้หรือไม่ว่าในนั้นจะมีตัวโน๊ตทั้งหมด 5 ตัว “ตื๊อ ตื่อ ตือ ตื๊อ ดึด” ที่ส่งไปให้ agency ในการทำโฆษณาแต่ละ campaign ใช้ โดยจะต้องใส่เจ้าท่อนนั้นเข้าไปทุกครั้ง ทำให้การใช้งานนั้นยืดหยุ่น มีพื้นที่ให้ creativity และปรับตัวได้ง่ายกับบริบทในประเทศต่างๆ (คุณจะสามารถ compose แนวไหนก็ได้ ใช้เครื่องดนตรีอะไรก็ได้ ขอเพียงมี melody นี้เข้าไป)

ช่วยเหลือผู้บกพร่องทางประสาทสัมผัสอื่น

ใน JR line ประเทศญี่ปุ่น มีการออกแบบเสียงที่ใช้ในแต่ละสถานีที่แตกต่างกัน บ้านเรา BTS อาจจะเป็นเสียงปี๊ปๆๆๆ แต่ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเสียงดนตรีที่ฟังแล้วเป็นความรีบเร่งที่นุ่มนวล ซึ่งนอกจากจะเป็นความน่ารัก รื่นรมย์แล้ว ยังช่วยให้คนจดจำเสียงของสถานีที่ตนเองใช้เป็นประจำได้ ไม่ต้องคอยฟังเสียงประกาศสถานี หรือสำหรับผู้ที่พิการทางสายตาไม่ทันฟังเสียงประกาศ มองไม่เห็นป้าย ก็รู้ว่าถึงสถานีปลายทางแล้วได้

แม้ sonic logo จะไม่ใช่สิ่งที่คนสังเกตหรือให้ความสำคัญในการออกแบบเสียเท่าไหร่โดยเฉพาะในประเทศเรา แต่พลังและผลลัพธ์ของมันกลับมีมากกว่าที่เราคิดอย่างคาดไม่ถึงเลยใช่ไหมล่ะ?

อ่านเพิ่มเติม : การออกแบบ sonic logo ของ Netflix

Tanatta Koshihadej

Service Design Director, the Contextual และ อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Learn more about our services.

SERVICE MENU