Future Scenario ทักษะที่แสนจำเป็นแต่ทำไมเราไม่ได้เรียน
ทักษะ “การมองอนาคต” เป็นสิ่งที่ต้องใช้ในทุกสาขาอาชีพไม่ว่าคุณจะทำอะไร มันคือการคาดเดาเพื่อทั้งเตรียมพร้อมรับมือ หรือวางแผนเพื่อนำพาให้เราไปข้างหน้า ไปได้ไกลกว่าคู่แข่งเราที่แข่งกันอยู่แค่ที่ในปัจจุบัน
วิชาหรือทักษะนี้เดียยอมรับว่าเพิ่งจะตระหนักถึงเมื่อตอนได้ไปเรียนต่อเมื่อ 10 ปีมานี้เอง ก่อนหน้านี้ไม่เคยมี ความตระหนักนี้เกิดขึ้นกับตัวเองมาก่อนเลย แม้จะเรียนการออกแบบมาก็ตามที
วันนี้อยากมาแชร์ว่า ตอนที่เรียนปริญญาโท (MA Industrial Design) ที่นั่นเค้าสอนกันยังไงในเรื่องการสร้างทักษะแห่งการมองอนาคต
วิชาหรือในที่นี้ขออนุญาตเรียกว่า project แทนดีกว่า เพราะมันไม่ได้เหมือนวิชาซักเท่าไหร่นัก มันไม่ได้เป็นวิชาที่มีอาจารย์มานั่งสอนทฤษฎีแห่งการมองอนาคต หรือมีกระบวนการ เครื่องมือมาช่วยใดๆ project นี้ถูกเรียกว่า CIP project เป็น project แรกเลยของการเรียนหนังสือที่นี่ ในช่วงประมาณครึ่งเทอมแรก เราจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำ project แห่งการคาดการณ์ และนำมาสร้าง scenario ใหม่ๆขึ้นมาตลอด รวมประมาณ 4 projects เราจะทำงานร่วมกันกับหลายๆคณะ เหมือนได้มีการ ice-breaking ไปในตัว และรู้จักเพื่อนร่วมรุ่นและการทำงานร่วมกันจากมุมมองที่ expert กันมาคนละเรื่อง
ใน CIP project นี้จะเน้นให้ทุกกลุ่มจบที่การสร้าง scenario จากโจทย์ที่ให้ไป ซึ่งโจทย์ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้วให้เรานำเสนอ scenario ที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกกี่ปีก็ว่าไป หรือเป็นโจทย์ถามมาเลยว่าในปีที่เท่านี้ๆๆ คนน่าจะมีพฤติกรรมแบบไหนเพราะอะไร ยกตัวอย่างเช่น คิดว่าโลกเราจะเป็นอย่างไรในปี 2030? หรือ What is the new luxury?
ซึ่งเราจะมานั่ง brainstorm กันเฉยๆไม่ได้ ทุกคนต้องไปหาข้อมูลอะไรก็ตาม ที่รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็น การแพทย์ technology เศรษฐกิจ และสารพัดสาขาอื่นๆ อ่านมาให้หมดก่อนแล้วสรุปมาคุยกันในทีม เพื่อที่จะช่วยกันวิเคราะห์ว่ามันน่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บนพื้นฐานข้อมูลแห่งความเป็นจริง ไม่ได้มานั่งคิดๆกันขึ้นมาเอง
สุดท้ายทุกกลุ่มจะต้องออกมา present กันด้วยวิธีอะไรก็ได้ ซึ่งก็ creative กันระเบิดระเบ้อไม่มีใครเปิด slide presentation แล้วพูดเอาเลย เพราะอีกโจทย์สำคัญก็คือเราต้อง present ออกมาให้น่าสนใจด้วย ห้ามเปิด slide และมีข้อบังคับคือต้องมีการสร้าง clip ขึ้นมาทุก project ไม่ให้ยืนอธิบาย ด้วยเหตุผลที่ว่าก่อนที่เราจะสร้าง film ได้ นอกจากเราจะต้องเข้าใจเรื่องที่เราจะเล่าแล้วเรายังต้องเล่าให้มันน่าสนใจได้ด้วย เพราะพวกเราคือ designer
ยกตัวอย่าง scenario ที่ได้มาจากการคาดการณ์ ในช่วงเวลานั้น (ปี 2010) ก็คือ ในปี 2030 ประเทศมหาอำนาจน่าจะกลับมาสู่ประเทศแถบเอเชีย และจากที่ดูข้อมูลทั้งหมดแล้วผู้นำใหญ่น่าจะเป็นประเทศจีนจะเป็นผู้ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด โลกจะกลับข้าง ประเทศจีนจะเป็นประเทศที่กุม knowhow เอาไว้มากมายจนกลายเป็นผู้ผลิตใหญ่ที่สุดของโลกที่ไม่ได้มีดีแค่แรงงานราคาถูก แต่กลับเป็นประเทศที่มีคุณภาพการผลิตที่ดีที่สุดในโลกได้อีกด้วย หรือ จากการที่ประชากรจีนมีคนอยู่จำนวนมากทำให้เทคโนโลยี AI ของจีนจะทำได้อย่างรวดเร็ว และสามารถทำให้เกิดขึ้นได้เนื่องจากการปกครองของจีนเอง ทำให้จีนกลายเป็นประเทศผู้นำแห่งการใช้ AI ในทุกมิติ ….. แล้วดูตอนนี้ในปี 2020 ที่ยังไม่ถึง 2030 นั้น มันก็ดูจะมาถูกทางอยู่ทีเดียว
หรือถ้าเอาเรื่องเบาๆลงมาหน่อย หนึ่งในการคาดการณ์ คือเรื่องธุรกิจร้านอาหารและพฤติกรรมการบริโภค ถูกคาดการณ์ว่าการเกิดขึ้นของร้านอาหารขนาดเล็กขนาด chef จัดการ แทบไม่ต้องมีพนักงานบริการเยอะแยะ และจัดขึ้นที่ที่ไม่ได้นิยามว่า”ร้านอาหาร” แต่อาจจะเป็นนิยามใหม่ที่แปลว่า “ครัวในบ้าน”ของเชฟคนนั้นๆ….แล้วลองดูร้านอาหารรอบๆตัวเราตอนนี้ที่คิวยาเหยียดสิ ร้านแบบนี้แทบทั้งนั้นจริงๆ
ทุกคนจะเจอการทำ project แบบนี้ไปหนักๆเลยประมาณ 3-4 projects หลังจากนั้นก็แยกย้ายเข้าไปเรียนในคณะของตัวเอง แต่ความมหัศจรรย์คือวิธีการคิดแบบนี้มันติดตัวเราเข้าไปแล้ว ทั้งๆที่ใช้เวลากับมันเพียงแต่ไม่กี่เดือนเอง และไม่มีคนมาสอนหลักการ1234 แต่การเรียนรู้เกิดจาก การผลักดันจากตัวเราเอง สภาพแวดล้อมรอบด้าน การ guide และทีม ซึ่งพอเข้ามาเรียนในคณะของตัวเองกันแล้วทักษะนี้ก็ต้องถูกเอาออกมาใช้อยู่ในทุก project และฝังรากติดตัวมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
ข้อจำเป็นต้องมีหากเราอยากพัฒนาทักษะการมองอนาคตให้ได้ ประกอบด้วย
1
ข้อมูลต้องมีเพียงพอรอบด้าน
ถ้าคุณไม่อ่าน ไม่หาข้อมูลมามากพอ จะไม่มีใครเชื่อในสิ่งที่คุณกำลังจะพูดเลย การคาดการณ์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่เหมือนการไปดูหมอที่เราคุ้นเคยที่พูดอะไรมาเราก็ศรัทธาไว้ก่อน กรณีที่คุณไม่ได้เป็นหมอดู ข้อมูลที่คุณนำมาประกอบการวิเคราะห์ต้องมี และการวิเคราะห์นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากคุณไม่มีชุดข้อมูลที่หลากหลายสาขา เพื่อนำมาวิเคราะห์หาความเชื่อมโยงต่างๆได้
2
ตั้งคำถามให้เยอะ
มันจะพาเราไปใกล้อนาคตมากขึ้น ถ้ามีข้อมูลเยอะแต่ตั้งคำถามไม่เป็น ไม่สงสัยอะไร ข้อมูลนั้นก็ช่วยอะไรคุณไม่ได้ คุณต้องมีคำขึ้นต้นประโยคว่า “แล้วถ้า…..” ไปเรื่อยๆ สมองคุณจะเริ่มหาคำตอบออกมา และเราค่อยเอาสิ่งเหล่านั้นมาวิเคราะห์ต่ออีกที
3
อย่าคิดไปเรื่อยเปื่อยเอาเอง
คิดบนข้อมูลที่มี เราจะเจอว่าบางคนหาข้อมูลมาเพียบบบบ แต่สิ่งที่วิเคราะห์ออกมามันไม่เกี่ยวกันเลย มาจากความคิดส่วนตัวล้วนๆ แม้คุณจะคิดว่ามันน่าจะใช่แค่ไหน ถ้าบอกไม่ได้ว่าทำไม ก็ไม่มีใครอยากจะฟังคุณหรอก มีเพียงคนตำแหน่งเดียวที่จะทำแบบนี้ได้คือ CEO แต่ซึ่ง CEO ส่วนใหญ่ตัดสินทุกอย่างบนข้อมูลที่มีอยู่ในหัวทั้งหมด แค่เขาไม่เอามานั่งเล่าให้เสียเวลาเท่านั้นเอง
ทักษะการมองอนาคตนี้เป็นทักษะที่จำเป็นอย่างมากไม่ว่าจะใช้ในการทำงานสาขาไหนก็ตาม รวมถึงการใช้ชีวิตอีกด้วย มันคือทักษะที่ช่วยให้เราเดาทิศทางบางอย่างได้เพื่อที่จะวางแผนรับมือ แก้เกม หรือวางแผนเพื่อขึ้นเป็น หรือรักษาตำแหน่งผู้นำในวงการ นี่อาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไมประเทศที่พัฒนาแล้วก็จะเป็นผู้ที่ก้าวนำอยู่เสมอ เป็นทักษะที่ควรสอนให้เกิดขึ้นในทุกคน และน่าจะเป็นทักษะหนึ่งที่ช่วยเราหลังจากพ้นสภาวะวิกฤติโลกครั้งนี้ได้
หลายๆคนอาจจะคาดหวังว่าบทความนี้จะต้องมีการบอกขั้นตอนให้เอาไปทำตามได้ แต่มันไม่มีหลักการนั้นมาแชร์ มันอาจจะมีเครื่องมือใน design thinking บางเครื่องมือ ที่เป็นพวก trends forcasting แต่มันก็เป็นแค่เครื่องมือที่หากกรอกเข้าไปได้ครบไม่ได้แปลว่าเราจะได้ผลลัพธ์ออกมา มันเป็นการเรียนที่เหมือนไม่ได้เรียน มันเหมือนการ learn ไม่ใช่ study เรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน อาจารย์คือคนที่วางโครงของ project ที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี แต่อาจารย์ตัวจริงของเราก็คือเพื่อนร่วมทีมและตัวของเราเอง
และน่าประหลาดใจว่า ทักษะเหล่านี้ ทักษะและวิธีคิดต่างๆของสายงาน design (และน่าจะแทบทุกสายอาชีพ) ขึ้นชื่อว่าทักษะ มันไม่ได้เรียนกันได้ผ่านทฤษฎี แต่มันต้องเรียนผ่านความเข้าใจและความอยากจะเข้าใจของตัวเราเอง
Tanatta Koshihadej
Service Design Director, the Contextual และ อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย